Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: การส่งเสริมสหกรณ์ในยุคสังคมข่าวสาร


Veteran Member

Status: Offline
Posts: 72
Date:
การส่งเสริมสหกรณ์ในยุคสังคมข่าวสาร
Permalink   


การส่งเสริมสหกรณ์ในยุคสังคมข่าวสาร


      ในโลกปัจจุบันที่หลายคนมักเรียกว่ายุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนเป็นยุคของการแข่งขันทางด้านข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง  ผู้ที่สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารจากทุกสารทิศได้มากที่สุดและรู้จักนำข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่การทำสงคราม  ย่อมทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ต่อกรในการดำเนินการนั้นๆ มากกว่าค่อนและส่วนใหญ่มักจะมีชัยชนะเหนือคู่แข่งเหล่านั้นทั้งสิ้น


                จากกระแสทุนนิยมที่ผ่านมาและยังคงครอบคลุมกดดันสภาวะเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน


ข้อมูล ข่าวสารเป็นส่วนเสริมและผลักดันให้กระแสทุนนิยมนั้นยิ่งโดดเด่นและสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของเรามากยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสหกรณ์ติดตามมา  ซึ่งที่จริงแล้วสหกรณ์ไม่น่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เพราะเนื้อแท้ของระบบสหกรณ์เป็นระบบปิด สหกรณ์เป็นของสมาชิก  บริหารโดยสมาชิกและเพื่อสมาชิก  การดำเนินธุรกิจหรือบริการเฉพาะในแวดวงสมาชิกจึงไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นหรือมีก็คงน้อย


                สี่ปีที่ผมได้มาอยู่ดูแลสหกรณ์มักได้ยินคำพูดที่เป็นเสียงเดียวกันว่าสหกรณ์ไม่ก้าวหน้าแต่เท่าที่ได้เห็นมีหลายสหกรณ์ที่มีความยั่งยืนสม่ำเสมอมาจนถึงปัจจุบันซึ่งอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง  ในเรื่องขอแนวคิดแนวทางที่ยังสมบูรณ์อย่างที่พวกเราอยากให้เป็น  เปรียบเทียบง่ายๆ  แม้แต่ทุกคนยังไม่มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมเหมือนกันทุกคน  แล้วสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่แตกต่างทั้งลักษณะความคิดและพฤติกรรม จึงย่อมผิดเพี้ยนไขว้เขวจากหลักและอุดมการณ์ที่เกิดจากพื้นฐานแห่งการรวมคน ความรับผิดชอบต่อตนเองและพึ่งพาซึ่งกันและกันไปบ้าง


                เรามักพยายามบอกและอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า “สหกรณ์คืออะไร”จนแทบจะกลายเป็นเรื่องท่องจำ  แต่เราหลงลืมถึงกระพี้หรือแก่นที่แท้งจริงเพราะไม่เคยบอกว่าสหกรณ์เป็นวิถีชีวิต  เป็นจิตสำนึก  เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกด้วยสาระเป็นเรื่องของการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เราไม่เคยอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าวีถีทางสหกรณ์นั้นสอดแทรกอยู่ในทุกอณูของสังคมมีหลายต่อหลายคนที่นำเอาแนวทางระบบสหกรณ์ไปใช้อย่างไม่รู้ตัวและยอมรับได้ว่า  สิ่งเขาร่วมกันทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทำไมเราถึงบอกเขาไม่ได้ว่าการลงแขกช่วยกันทำงาน การรวมกลุ่มทำอาชีพเสริมหรือแม้แต่วิธีที่ห้างสรรพสินค้าจ่ายเงินส่วนลดทันทีเมื่อซื้อสินค้านั่นแหละคือวิธีการสหกรณ์


                ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องกลับมาทบทวนบทบาทที่ถูกต้องของตนเองและเริ่มดำเนินการตามวิถีทางหลักการและวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่แท้จริง ที่มุ่งส่งเสริมผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมวลสมาชิกโดยช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่มุ่งเพียงแต่ดำเนินการตามอำนาจกระทำการที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 3 มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เท่านั้น ที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของสหกรณ์ของมวลสมาชิกให้เกิดขึ้นให้ได้


                สหกรณ์ควรเลิกดำเนินการแบบเดิมๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรที่ทำแต่เรื่องสินเชื่อเป็นหลักโดยใช้เงินกู้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ทุนของตนเองโดยสหกรณ์รอรับแต่ดอกเบี้ยเงินกู้ แทนที่จะเน้นด้านรวมกันขายรวมกันซื้อหรือหาวิธีการที่จะทำให้สมาชิกขายของได้ดีขึ้น ไม่ปล่อยให้สมาชิกเผชิญความเสี่ยงเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันดำเนินการยากมาก และข้าราชการเองก็ไม่มีความสามารถที่จะไปแนะนำให้เขาดำเนินการด้วย ซึ่งหากยังดำเนินการแบบเดิมก็เท่ากับว่าไปเอาผลประโยชน์จากมวลสมาชิกมาเลี้ยงกรรมการและฝ่ายจัดการ อีกอย่างคือการที่ชอบทำตัวเป็นธนาคารโดยไปว่า
สหกรณ์ต้องช่วยตนเองให้ได้ก่อนถึงจะช่วยสมาชิกได้ การออมไม่ว่าการฝากเงินหรือถือหุ้นเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราเงินปันผลที่จ่ายกันอยู่ มันสร้างภาระให้กับสหกรณ์เพราะบริหารเงินไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเงินเกินสภาพคล่อง


                สหกรณ์ต้องมีการปรับตัวให้ทัดเทียบเท่ากับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน ต้องเข้าใจด้วยว่าทัดเทียมเทียบเท่าไม่แข่งขันกับเอกชนได้ แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ทัดเทียมเป็นลักษณะของการมีระบบการจัดการที่ดี เช่นมีระบบข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจที่ดี เพื่อให้บริการแก่สมาชิกเช่นเดียวกับที่บริษัทเอกชนเขาให้บริการต่อลูกค้า ถือว่าแข่งเฉพาะด้านระบบการบริหารจัดการและบริการ ไม่ใช่ไปทำมาค้าขายแข่งกับเขาได้เพราะเนื้อแท้ของสหกรณ์ต้องสามารถคงอยู่ในสังคมใดก็ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือสร้างศัตรูกับองค์กรธุรกิจอื่นเพราะจิตสำนึกของสหกรณ์อยู่ที่ต้องการให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งไหนที่สมาชิกได้รับบริการจากองค์กรธุรกิจอื่นที่ดีและเป็นธรรมอยู่แล้ว ก็ให้เขาดำเนินการไปแต่สิ่งใดที่สมาชิกจะถูกเอารัดเอาเปรียบ สหกรณ์ควร
เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือแก่สมาชิกในเรื่องนั้นๆ


                สหกรณ์ต้องมีการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกได้จริงแล้ว ศรัทธาของสมาชิกสหกรณ์ก็จะตามมา ต้องมีการนำระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ ต้องมีข้อมูลด้านการตลาดที่รวดเร็วฉับไวและแน่นอน มีตลาดที่เชื่อมโยงกันทั้งระหว่างสหกรณ์และกับบุคคลภายนอก ในส่วนโครงสร้างต้องมีการพัฒนาในทุกระดับให้สอดรับเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่ผลิตและแปรรูปชุมชน ทำหน้าที่การตลาดให้ ไม่ดำเนินการในลักษณะที่ซับซ้อนกันแต่สนับสนุนและส่งเสริมกัน สันนิบาต
สหกรณ์แห่งประเทศไทยต้องเป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นแกนนำสนับสนุนความร่วมมือในขบวนการด้านวิชาการเป็นหลักและเสริมสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจ ต้องปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในระบบที่กำลังประสบอยู่ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เท่าทันกับยุคข้อมูลข่าวสาร มีการเชื่อมโยงสานใยเครือข่ายได้อย่างแท้จริงและรวมเป็นเอกภาพดำเนินการตามหน้าที่และบทบาทที่ถูกต้องชัดจนในแต่ละส่วนของโครงสร้าง จึงจะสามารถรวมกันซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับ
ภูมิภาคหรือประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


                อย่างไรก็ตามคณะกรรมการของสหกรณ์เองต้องมีจิตสำนึกในการบริหารงานเพื่อสมาชิกจะหลงลืมไม่ได้ อย่าหลงไปคิดว่าสหกรณ์เป็นของตนคนเดียว อย่าเอาสหกรณ์ของสมาชิกเข้าไปเสี่ยง ต้องถอยหลังมาคิดสักนิดก่อนจะดำเนินการใดๆ ลงไป เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นของมวลสมาชิกที่ได้เก็บหอมรอมริบมานานแต่มิใช่เงินของท่านเพียง 15 คน หากท่านมีความพร้อมและมั่นใจว่ามีความสามารถจริงๆ หรือต้องการดำเนินการได้อย่างใจตัวเอง ก็สมควรที่จะไปดำเนินการในลักษณะส่วนตัวหรือตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้นมา แต่อย่านำหลักสหกรณ์ไปใส่เข้าไปอีก ไม่ว่าจะเพื่อวัถตุประสงค์ใดก็ตามเพราะจะทำให้ขัดแย้งกันและเข้าอีหรอบเดิมคือไปไม่รอด คณะกรรมการ
สหกรณ์ต้องมีความรู้ให้ลึกซึ้งในข้อจำกัดของสหกรณ์ เพื่อจะได้บริหารนโยบายเพื่อบริการสมาชิกได้อย่างแท้จริง ดังนั้นขอให้ผู้ที่มีความคิดจะตั้งสหกรณ์ใหม่แยกแยะให้ได้ว่า “ถ้าตั้งสหกรณ์ให้ยึดหลักสหกรณ์ แต่ถ้าคิดจะเป็นองค์กรอิสระ ขออย่าได้นำหลักสหกรณ์ไปใช้”


บุญมี จันทรวงศ์


อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์


 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์สามัคคีคือพลังเกลียวเชือก.  ๑๑–๑๗ พฤศจิยายน ๒๕๔๗


ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๔๖, (หน้า ๑, ๓) .



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard